ราคาหุ้น SCB ดิ่งต่ำสุดในรอบ 9 ปี |พิษเศรษฐกิจและผลกระทบจากมาตรฐานการบัญชี !

Pakpoom Poom
2 min readJan 26, 2020

--

เมื่อธนาคารที่มีสินทรัพย์รวมสูงที่สุดในไทยอย่างธนาคารไทยพาณิชย์หรือ SCB ได้ประกาศงบปี 2562 ออกมา ก็ส่งผลให้ราคาหุ้นร่วงลงในทันที ปิดตลาดติดลบ ลงมาเหลือเพียง 99.75 บาท ทำสถิติราคาต่ำที่สุดในรอบ 9 ปี นับตั้งแต่ 2554

- เกิดอะไรขึ้น :

สาเหตุหลักเกิดจากนักลงทุนมีความกังวลต่อผลการดำเนินงานในปี 2562 ที่ผ่านมา โดยภาพรวมปี 2562 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 40,436 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 เพียง 0.92% เท่านั้น แต่ถ้าถอดรายการกำไรพิเศษจากการขาย SCBLIFE ออกไปประมาณ 11,644 ล้านบาท จะทำให้กำไรสุทธิที่แท้จริงของ SCB ในปีลดลงเหลือ 28,792 ลบ. หรือลดลงมากถึง -27.5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ส่วนตัวมองว่าการที่กำไรลดลง น่าจะไม่ทำให้ราคาหุ้นร่วงได้ขนาดนี้ แต่คิดว่าสิ่งสำคัญที่ทำให้ SCB โดนเทขายหนักจนมูลค่าหายไปหลายหมื่นล้านบาทในช่วงที่ผ่านมา น่าจะมาจาก “ ไส้ในของธุรกิจ ”

ซึ่งถ้าลองเจาะงบปี 2562 ของ SCB ก็จะพบว่ามี 5 ประเด็นหลัก ได้แก่

1.สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) หรือที่เราเรียกกันว่าหนี้เสีย ซึ่งในปี 2562 ที่ผ่านมาทาง SCB มีมูลค่าหนี้เสียสูงถึง 85,212 บ. เพิ่มขึ้น 21.1% จากปีที่แล้ว ส่งผลทำให้อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 อยู่ที่ 3.4% เพิ่มจากคาดการณ์ไว้ 3% ในครึ่งแรกของปี แล้วอย่างที่เรารู้กันครับ ขึ้นชื่อว่าหนี้เสียก็ย่อมไม่มีใครชอบอยู่แล้ว

2.การตัดจำหน่ายหนี้สูญในปี 2562 ที่ลดลงมีมูลค่ารวมถึง 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่เยอะมาก โดยที่ถูกเมื่อหนี้สูญลดลง NPL ก็ควรจะลดลงตาม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับตรงข้ามคือ NPL กลับเพิ่มขึ้น นั่นแสดงว่าหนี้ที่มีอยู่ในระบบยังคงมีความเสี่ยงอยู่ ทำให้ต่อไปทาง SCB จะต้องปล่อยสินเชื่อเข้มงวดขึ้น ก็จะส่งผลให้การเติบโตของสินเชื่อมีแนวโน้มที่ลดลงด้วย

3.การตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน หนี้ก็เพิ่มขึ้นตาม จึงมีความจำเป็นต้องตั้งสำรองหนี้สูงถึง 36,211 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 50.7% แต่การตั้งสำรองต้องใช้เงินจำนวนมาก จุดนี้จึงทำให้นักลงทุนเริ่มผิดหวัง เพราะเงินที่ได้จากการขาย SCBLIFE ที่เคยทำรายได้ให้กับบริษัทได้เป็นอย่างดีนั้นจะถูกนำมาใช้ไปในการตั้งสำรองหนี้ ต่างจากที่คาดหวังให้ SCB นำเงินส่วนนี้นำไปทำอย่างอื่นที่ดีกว่า

4.การประกาศจ่าย “เงินปันผล” ที่อัตรา 0.75 บาทต่อหุ้น ถ้ารวมทั้งหมดก็จะเป็นเงินเพียง 2,549 ล้านบาทเท่านั้นที่ SCB จะจ่ายให้กับผู้ถือหุ้น โดยที่นักลงทุนคิดว่าจะได้รับมากกว่านี้ เพราะจากการขาย SCBLIFE ให้ FWD นั้นทำให้ SCB ได้เงินมาถึงแสนล้านบาท

5.กำไรส่วนต่างของดอกเบี้ย(NIM) ลดลงอีก 0.48% กลายเป็น 3.2% หมายความว่าถ้า NIM ลด ความสามารถในการทำกำไรก็จะลดลงตามไปด้วย

ทั้งหมดนี้จึงเรียกได้ว่า SCB โดยกดดันจากปัญหาทุกๆด้านทั้งเศรษฐกิจชะลอตัว มาตรฐานการบัญชี(TFRS 9) โดยเฉพาะ NPLs ที่สูงขึ้นจนทำให้กระทบกับหลายๆเรื่อง อีกทั้ง NIM และการเติบโตของสินเชื่อก็ลดลงตาม ร่วมถึงการขายธุรกิจที่ทำเงินได้อย่าง SCBLIFE ออกไปและยังไม่สามารถหาแหล่งเงินใหม่ได้ในตอนนี้

- กระทบอย่างไร :

SCB ในวันที่ทำให้นักลงทุนผิดหวัง และได้เพิ่มความกังวลมากขึ้น ถูกสะท้อนในราคาหุ้นที่นักลงทุนตัดสินใจขายหุ้นออกมา วิ่งลงมาต่ำสุดในรอบ 9 ปี มาอยู่ที่ 99.75 บาท

- มุมมองภาพรวม :

ตอนนี้ SCB มีหนี้สูญเพิ่มมาก ไม่สอดคล้องกับสินเชื่อที่หดตัวลง ทำให้ภาพรวมราคาหุ้นตกลงมา แต่ทั้งนี้ก็ต้องจับตามองหาจังหวะกันต่อไปว่า SCB จะเอาตัวรอดได้อย่างไร ? พวกเขาจะหาธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับบริษัทได้ในเร็ววันหรือไม่ ? แม้จะมีเงินปันผลสูงก็ตาม ทั้งนี้ก็ต้องลองเทียบ Bank อื่นๆ ด้วย ดูเป็นรายธนาคารที่จะลงทุน เพราะบางธนาคารก็อาจจะมีประเด็นเรื่องจ่ายปันผลดี บางธนาคารก็มีการควบรวมกัน หรือการตั้งสำรองไปเยอะแล้ว เป็นต้น

- ข้อมูลพื้นฐาน:

ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่ให้บริการทางการเงินครบวงจรสำหรับลูกค้าทุกประเภท เช่น รับฝากเงิน โอนเงิน ให้กู้ยืมประเภทต่างๆ รวมถึงบริการด้านธุรกิจหลักทรัพย์ บริการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนส่วนบุคคล บริการด้านบัตรเครดิตและการรับฝากทรัพย์สิน เป็นต้น

ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)
ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)

หมายเหตุ: การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุน บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำให้ซื้อหรือขายหุ้นตัวนี้

--

--

Pakpoom Poom
Pakpoom Poom

Written by Pakpoom Poom

My journey | Lifelong Learning : Learn – Unlearn – Relearn

No responses yet