Power BI ง่ายๆ ใน 10 นาที : Step-by-Step Guide
ก่อนอื่นต้องขอบอกก่อนว่าบทความนี้ เกิดจากคำถามง่ายๆ ที่มักถูกถามอยู่บ่อยครั้งว่า…
“ อยากเริ่มใช้ Power BI ง่ายๆ เริ่มอย่างไรดี…? ”
ซึ่งเมื่อผมได้ยินคำถาม จนบางครั้งก็ไม่รู้จะตอบยังไง เพราะที่ผ่านมาผมเองก็เริ่มแบบลองผิดลองถูก ทดลองคลิกตรงนั้น ปรับตรงนี้ เก็บเล็กผสมน้อยมาตลอด ครั้งนี้จึงอยากขอลองสรุป แล้วตอบคำถามที่ได้รับมาผ่านบทความนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่อยากเริ่มต้นขั้นพื้นฐานในการเรียนรู้ Power BI ต่อไปครับ
Power BI คืออะไร ?
Power BI หรือ Power Business IntelligencePower เป็นชุดของเครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจ และสร้างรายงานที่น่าสนใจ ให้กับผู้ใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ เพราะการตัดสินใจเชิงธุรกิจในปัจจุบันจะต้องการความถูกต้องและความรวดเร็วจากข้อมูลมากขึ้น ผ่านการอาศัยเทคโนโลยีด้านการวิเคราะห์ข้อมูล(Data Analytics) รวมถึงสามารถ Interactive เรียกดูได้ในทุก Platform ทั้ง PC, Tablet และ Mobile
ประเภทของ Power BI ?
- Power BI Desktop เป็นโปรแกรมที่สามรถ Install ได้บนเครื่องคอมฯ โดยเรามักจะสร้างข้อมูลหรือรายงานที่ต้องการในขั้นตอนนี้ให้เรียบร้อย ก่อนโยนขึ้นไปบน Cloud หรือ Power BI Service
- Power BI Service เป็นบริการบนเว็บที่รันอยู่บน cloud ที่จะทำงานร่วมกันกับ Power Desktop เพื่อที่จะสามารถแชร์ข้อมูลรายงานให้คนอื่นได้เห็น
- Power BI Mobile App เป็นอีกหนึ่งบริการที่เราสามารถเรียกดูรายงานแสดงผลข้อมูลได้สะดวกขึ้น
สำหรับการเริ่มต้น Power BI ในขั้นพื้นฐานนี้ จะขอเริ่มที่ Power BI Desktop ก่อนเพราะจะทำให้เราเข้าใจได้ง่าย และเห็นภาพรวมยิ่งขึ้น
Power BI Desktop คืออะไร :
คือ เครื่องมือในการจัดการ และวิเคราะห์ข้อมูล จากหลาย แหล่งข้อมูล เช่น Excel File, Microsoft Access Database, SQL Server แล้วสามารถแสดงผลในรูปแบบ Visualization ต่างๆ ได้อย่างดี
ขั้นตอนการติดตั้ง Power BI Desktop :
ติดตั้งโปรแกรมได้ที่นี้ : https://powerbi.microsoft.com/en-us/desktop/
เมื่อติดตั้งโปรแกรมเรียบร้อยแล้ว เราสามารถเรียก Power BI Desktop ขึ้นมา ก็จะปรากฎตามภาพข้างบน
องค์ประกอบของ Power BI Destop :
1.รายงาน(Report) 2.ข้อมูล(Data) 3.ความสัมพันธ์(Relationships)
ขั้นตอนการทำงานเบื้องต้นใน Power BI Desktop :
- ขั้นตอนเชื่อมต่อกับข้อมูล(Get Data) :
เริ่มต้นใช้งานผ่านการเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลที่เราเตรียมไว้ ผ่านการคลิกแถบ Home ->คลิก Get Data ก็จะขึ้นหน้าต่างตามภาพข้างล่าง ซึ่งจะมีแหล่งข้อมูลหลายประเภทที่เราสามารถเชื่อมต่อได้
เมื่อ get data ที่เราต้องการเรียบร้อยแล้ว ข้อมูลที่เรานำเข้า จะแสดงผลอยู่ที่แถบด้านซ้ายในส่วนของ Data ซึ่งเรายังสามารถแก้ไขข้อมูลได้ในส่วนนี้ เพื่อให้ได้ข้อมูลถูกต้องตามที่เราต้องการ แล้วพร้อมแสดงผลต่อไป
2. ขั้นตอนการออกแบบความสัมพันธ์ข้อมูล(Relationships/ Data Model) :
เป็นขั้นตอนในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตารางข้อมูลหลายๆ ตาราง จากข้อมูลที่เรานำเข้ามา ผ่านแถบ Relationships(ด้านซ้าย) โดยเราควรจะมีตารางหลักและตารางอ้างอิงเชื่อมโยงกัน แต่ก็ไม่จำเป็นเสมอที่จะต้องสร้าง Model ความสัมพันธ์ ขึ้นอยู่กับผู้ใช้งานมากกว่า เพราะรูปแบบการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตารางนี้ จะช่วยให้เราได้ข้อมูลหลายรูปแบบ ทำได้หลายเรื่อง และนำเสนอได้หลายมุมมอง
3. ขั้นตอนการสร้างรายงาน (Report) :
เมื่อเรามีรูปแบบข้อมูลที่เตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะมาสร้างรายงาน(แถบ Report) ด้วยการปรับเพิ่มลดตารางข้อมูล(fields) และการลองเลือกเครื่องมือต่างๆ(Visualizations) เช่น Column Chart, Bar Chart, Pie Chart, Line Chart, Donut Chart, Treemap, Map, Fill Map, Guage, Card และ MultiRow Card
เพื่อจะได้รายงานการแสดงข้อมูลตามที่เราต้องการ และง่ายต่อการเข้าใจ เพื่อการตัดสินใจที่รวดเร็วและถูกต้อง
4. ขั้นตอนการบันทึกและแชร์ :
เมื่อรายงาน Power BI Desktop ของเราเสร็จเรียบร้อยแล้ว เราก็พร้อมที่จะแชร์ข้อมูลดังกล่าวให้คนอื่นได้ มีทั้งหมด 3 วิธี
1.บันทึกข้อมูลเหมือนกับไฟล์อื่นๆ ตามปกติ ต่างกันที่นามสกุลของไฟล์ คือ .pbix
2.แชร์โดยตรงจาก Power BI Desktop ไปยัง Power BI Service แต่เราต้องมีบัญชี Power BI Service เพื่อเผยแพร่หรืออัปโหลดรายงานไปยังบริการ Power BI Service ด้วย
3. อัปโหลดไฟล์จาก Power BI Service ไปที่ https: //app.powerbi.com เพื่อเปิด เว็ปขึ้นมา แล้วกดรับข้อมูล Get data -> Create new content
เมื่อรับข้อมูลเข้ามาเรียบร้อยแล้ว เพียงเท่านี้เราก็พร้อมที่จะแชร์ไฟล์รายงานได้แล้ว
ขอบคุณแหล่งที่มาข้อมูล :
https://powerbi.microsoft.com
Power Platform Community Thailand
/// ความมันส์ยังไม่จบเพียงเท่านี้ ยังมีเวลาให้ไปอ่านกันได้อีกที่ >>> How to think like a Data Scientist x KBTG