ดูงบฯ เป็น จะเห็นความจริง…

Pakpoom Poom
1 min readOct 22, 2019

--

งบการเงินคือหัวใจของธุรกิจ การวิเคราะห์งบการเงินก็เหมือนการตรวจสุขภาพธุรกิจเบื้องต้น โดยเฉพาะนักลงทุนไม่ว่าจะลงทุนแนวไหนก็ตาม ควรจะเข้าใจงบการเงิน เพราะการวิเคาระห์งบฯ เสมือนกุญแจหนึ่งดอกสำคัญที่จะนำไปสู่การค้นพบบริษัทที่น่าลงทุน

นักลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐานหรือวีไอ ยิ่งต้องเข้าใจงบการเงิน ถือเป็นความรู้พื้นฐานที่ไม่มีไม่ได้เลย เพราะการลงทุนแนวนี้ จะเน้นคัดเลือกหุ้นที่มีศักยภาพในการแข่งขันระยะยาว คาดการณ์ผลดำเนินงานที่จะเกิดขึ้นได้ รวมถึงเป็นบริษัทที่มีสินค้าหรือบริการเป็นผู้นำในตลาด เพื่อสร้างผลกำไรที่มั่นคงให้ผู้ถือหุ้นในอนาคต เช่นหุ้น CPALL AOT BDMS และ SCC เป็นต้น

จึงมีประโยคที่ว่า “งบการเงิน คือ หัวใจการลงทุนแบบวีไอ”

เพราะงบการเงินเปรียบเสมือนกระจกเงา สะท้อนภาพของธุรกิจ ที่ดำเนินตามกลยุทธ์ของบริษัท โดยงบการเงินจะมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วน คือ

1.งบดุลหรืองบแสดงฐานะทางการเงินของบริษัท ณ วันสิ้นงวดบัญชี

จะบอกถึงที่มาของสินทรัพย์ได้มาอย่างไร มาจากหนี้สินเท่าไร จากส่วนผู้ถือหุ้นหรือส่วนของเจ้าของเท่าไร ผ่าน 3 ส่วนประกอบ คือ

  • สินทรัพย์ สิ่งที่กิจการใช้ในการดำเนินธุรกิจ เช่น เงินสด ลูกหนี้ ที่ดิน อาคาร เครื่องจักร
  • หนี้สิน ประเภทเงินกู้ระยะสั้น ระยะยาว
  • ทุนหรือส่วนของผู้ถิหุ้น ทุนเรือยหุ้น ส่วนเกินมูลค่าหุ้น กำไรสะสม

ตัวอย่าง เราจะซื้อบ้านหนึ่งหลัง 10 ลบ. โดยใช้เงินของเราเอง 4 ลบ. และกู้เงินธนาคาร 6 ลบ. นั้นหมายความว่า เรามีสินทรัพย์คือบ้าน 10 ลบ. และมีหนี้สิน ที่กู้จากธนาคาร 6 ลบ. และส่วนความเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นที่มาจากเงินเราเองอีก 4 ลบ. สรุปเป็นสมการ คือ สินทรัพย์(บ้าน 10 ลบ.) = หนี้สิน (กู้ธนาคาร 6 ลบ.)+ส่วนของผู้ถือหุ้น (เงินเราเอง 4 ลบ.)

2.งบกำไรขาดทุน

บอกถึงผลการดำเนินงานในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ผ่าน 2 ส่วนประกอบคือรายได้ และค่าใช้จ่าย โดยภาพรวมจะแสดงให้เห็นถึงกำไรที่สร้างได้จากการใช้สินทรัพย์ที่ซื้อมา เช่น ซื้อบ้านมาแล้วปล่อยเช่า เราจะมีรายได้จากค่าเช่าบ้าน ตามมาด้วยต้นทุนค่าใช้จ่ายการดูแลบ้าน ดอกเบี้ยจากกู้ยืมธนาคาร สุดท้ายที่เหลือหลังหักค่าใช้จ่าย คือ กำไรที่คืนมาสู่เรา

3.งบกระแสเงินสด

แสดงถึงสถานะของเงินสดที่มีอยู่ในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง ผ่าน 3 ส่วนประกอบ คือ กระแสเงินสดสดจากการดำเนินงาน กระแสเงินสดจากการลงทุน และกระแสเงินสดจากจัดหาเงิน แม้ว่าบริษัทจะมีกำไรดี แต่หากบริหารเงินสดผิดพลาด จนไม่มีเงินสดมาชำระดอกเบี้ยธนาคาร ก็จะเกิดปัญหาขึ้นได้

นอกจากการศึกษางบการเงินแล้ว เรายังคงมีอีกสิ่งสำคัญ คือ การตีความและวิเคราะห์ผ่านอัตราส่วนทางการเงินที่จะทำให้เราเข้าใจธุรกิจได้ดีขึ้น

ตัวอย่างอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ

  • อัตรากำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS)

จะสะท้อนให้เห็นถึงกำไรที่มาถึงผู้ถือหุ้นอย่างแท้จริง และแสดงถึงความสามารถในการแข่งขันระยะยาวของบริษัท ผ่านแนวโน้มของตัวเลขที่ได้

  • อัตรากำไรเบื้องต้น (Gross Margin)=(Revenue — COGS)/Revenue

ควรมีอัตราอย่างน้อยเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้น เพราะการเพิ่มขึ้นบ่งบอกว่าบริษัทสามารถผลิตสินค้าหรือบริการที่ลูกค้าต้องการใช้อย่างไม่มีทางเลือกมากนัก การขึ้นราคาไม่ทำให้ยอดขายลดลงแต่กลับเพิ่มขึ้น หรือบริษัทสามารถควบคุมต้นทุนได้ดีก็จะช่วยเพิ่มอัตราส่วนนี้ได้เหมือนกัน ตัวเลขนี้ยิ่งสูงยิ่งดี แล้วสุดท้ายจะเป็นตัวการันตีถึงประสิทธิภาพในการแข่งขันของบริษัทในระยะยาวแบบยั่งยืนได้ดี

  • อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ = ค่าใช้จ่ายจากการขายและบริหาร / รายได้

เป็นอีกหนึ่งตัวที่บอกถึงความสามารถในการแข่งขันระยะยาวของธุรกิจ เพราะบริษัทที่มีค่าใช้จ่ายจากการขายและบริหารต่อรายได้อยู่ในสัดส่วนลดลงอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเทียบกับคู่แข่งจะยิ่งดี

  • อัตรากำไรสุทธิ = กำไรสุทธิ / รายได้

บริษัทที่สามารถเติบโตได้ในระยะยาวต้องสามารถรักษากำไรสุทธิไว้ให้ได้ ตรงข้ามบริษัทที่มีแนวโน้มของกำไรสุทธิลดลง นั่นหมายถึงคู่แข่งได้เข้ามาแข่งขันในตลาดเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องทำการตลาดเพิ่มขึ้นเช่น โปรโมชั่น ลดราคา หรือแจกของ สุดท้ายก็จะส่งผลให้กำไรสุทธิลดลง

  • หนี้สินต่อทุน(Debt to Equity Ratio) = หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย/ส่วนของผู้ถือหุ้น

ควรจะต่ำกว่าหนึ่งเท่า หรือยิ่งน้อยยิ่งดี เพราะแสดงทำให้ถึงความมั่นคงของบริษัทในระยะยาว อีกอย่างการเติบโตของบริษัทควรจะมาจากสัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างทุนเจ้าของและการกู้หนี้มาเติบโต แม้ทุกอย่างในโลกนี้จะมีต้นทุน แต่การมีหนี้มากย่อมต้องมีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยสูง และถ้าดอกเบี้ยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในระยะยาว เจ้าหนี้ทางการค้าที่มี ก็จะกลายเป็นหนี้ที่ไม่ดีเพราะที่มีไว้เพื่อรอจ่าย

  • กระแสเงินสดอิสระของธุรกิจ หรือ Free Cash Flow

คิดจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานหักด้วยเงินลงทุนหรือ Capital Expense ค่านี้เป็นตัวเลขที่นิยมใช้ในการหามูลค่าของผลตอบแทนที่จะได้แต่ละปีเมื่อเทียบกับมูลค่าของหุ้นที่เราจ่ายไป เช่น บริษัทมียอดขายเติบโตแต่เงินสดไม่เข้า อาจทำให้ขาดสภาพคล่องและเกิดวิกฤตได้ จึงส่งผลให้ตัวเลขที่ได้ควรเป็นบวกและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

  • อัตราส่วนผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นหรือ Return on Equity (ROE)

เป็นอัตราส่วนที่นิยมอีกหนึ่งตัว เพราะหุ้นหรือบริษัทที่ดีควรจะมีค่า ROE ในแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ เพราะนั่นหมายถึงผลตอบแทนขั้นต่ำที่ธุรกิจน ี้ทำให้เจ้าของหรือผู้ถือหุ้นได้รับ

สุดท้ายการวิเคราะห์งบการเงิน อาจเป็นเพียงหนึ่งทางเลือกในการทำความเข้าใจ และมองหาความจริงของธุรกิจผ่านตัวเลข เช่นเดียวกับหลักการลงทุนของ “วอร์เรน บัฟเฟตต์(Warren Buffett)” ที่บอกอยู่เสมอว่า

“ควรเลือกลงทุนเฉพาะธุรกิจที่เรารู้จักเป็นอย่างดี เข้าใจที่มาที่ไปอย่างไม่มีข้อสงสัย”

--

--

Pakpoom Poom
Pakpoom Poom

Written by Pakpoom Poom

My journey | Lifelong Learning : Learn – Unlearn – Relearn

No responses yet