Pakpoom Poom
2 min readNov 10, 2019

ผลตอบแทนที่แท้จริงของประกัน (ความลับที่ ถูกเปิดเผย !)

ใกล้สิ้นปีแล้ว มนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ก็ต้องมองหาสิ่งที่จะมาลดหย่อนภาษี ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เรามักเลือกใช้ และมีคนมาเสนอให้เราอยู่บ่อยครั้ง คือ “ ประกัน ”

แล้วผมเชื่อว่า ในหลายๆครั้ง เรามักจะเจอปัญหาตามมาในการพิจารณาความคุ้มค่าของผลตอบแทนในแต่ละประกัน เมื่อเทียบกับเบี้ยที่ต้องจ่ายไป ว่ามันจะมีวิธีเปรียบเทียบยังไง? โดยเฉพาะประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ เพราะแต่ละแบบก็มีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น ระยะเวลาที่ต้องจ่ายเบี้ย, ระยะเวลาคุ้มครอง, เงินคืนที่ได้แต่ละปี และเงินคืนก้อนใหญ่เมื่อครบสัญญา แล้วแบบนี้จะเทียบกันยังไง?

ทำให้หลายคน และบริษัทประกันส่วนใหญ่ เลือกจะใช้วิธีคิด รวมถึงแสดงภาพรวมของผลตอบแทนง่ายๆ ด้วยการรวมเงินคืนทั้งหมดที่จะได้ (เงินคืนแต่ละปี + เงินคืนเมื่อครบสัญญา) ลบ ด้วยเบี้ยรวมทั้งหมดที่จ่ายไป ส่วนที่เหลือคือ “กำไรสุทธิ” หรือผลตอบแทนทั้งหมดที่ได้รับ

ตัวอย่าง ประกันแบบสะสมทรัพย์ 15/9
โดยเราต้องจ่ายเงินทุกปี ปีละ 30,000 บ. เป็นเวลา 9 ปี
และเราจะได้เงินคืนมาแต่ละปี 5,000 บ. ไปเรื่อยๆ ทุกปี เป็นเวลา 15 ปี
โดยที่ปีที่ 15 นั้นจะมีคืนเงินมาอีก 250,000 บ.
ดังนั้นปีที่ครบกำหนดสัญญา ได้เงินคืนรวมสิ้นปีที่ 15 = 255,000 บ.

โดยถ้าเราคิดแค่ว่า เราจ่ายเงินไปทั้งหมดเท่าไหร่ และได้คืนออกมาเท่าไหร่ แบบนี้…
เงินคืนแต่ละปีทั้งหมด = 5,000 บ. X 14 ปี = 70,000 บ.
เงินคืนเมื่อครบกำหนดสัญญา = 255,000 บ.
เงินที่ได้รับทั้งหมด = 70,000 + 255,000 = 325,000 บ.

เงินที่เราจ่ายทั้งหมด = 30,000 บ. X 9 ปี = 270,000 บ.
เท่ากับเราได้ผลตอบแทน = 325,000–270,000 บ. = 55,000 บ.

ถ้าเราดูแค่กำไรสุทธิ เทียบกันว่าประกันไหนสูงกว่า ก็เลือกตัวนั้น มันอาจทำให้เลือกพลาดไป เพราะยังคงมีอีกหนึ่งความลับที่ซ่อนอยู่ในการพิจารณาผลตอบแทนจากประกัน คือ “มูลค่าของเงินตามเวลา” เพราะในความเป็นจริง เงินจำนวนเดียวกัน แต่ถ้าได้รับในระยะเวลาที่ต่างกัน ก็จะมีค่าไม่เท่ากัน

เช่น ถ้ามีคนจะให้เงินเรา 1,000 บาท เราจะรับวันนี้ หรือ รอในอีก 10 ปีข้างหน้า เราจะเลือกอะไร ?

ก็คงต้องเลือก 1,000 บาทในวันนี้เลย เพราะถ้ารอไปอีก 10 ปี ก็ได้ 1,000 บาทเท่ากัน แล้วจะรอทำไม และอีก 10 ปีข้างหน้า เงิน 1,000 บาทที่ได้ มูลค่ามันก็เอาไปซื้อของได้ลดลงตามอำนาจของเงินเฟ้อด้วย

ทั้งหมดนี้ทำให้เรารู้ว่าไม่สามารถเทียบกันได้ตรงๆ จากการแค่ดูผลตอบแทนที่ได้มาทั้งหมด่ เพราะแต่ละประกันแบบสะสมทรัพย์นั้น ย่อมมีเงื่อนไขของการจ่ายเงินคืนให้เรา และจำนวนเงินที่เราต้องจ่ายเข้าไปที่แตกต่างกันไป รวมถึงปัจจัยมูลค่าของเงินตามเวลาอีกด้วย

ดังนั้นเราควรวัดผลตอบแทนที่แท้จริงจากประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ด้วยอัตราผลตอบแทนที่เรียกว่า IRR (Internal Rate of Return)

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

IRR คืออะไร ?

IRR ย่อมาจาก Internal Rate of Return หรืออัตราผลตอบแทนภายในเฉลี่ยที่แท้จริง มันคือ การคิดลด (discount rate) ที่คำนึงถึงกระแสเงินสดเข้าและออกในแต่ละเวลาทำให้มูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดสุทธิรวม (Net present value: NPV) มีค่าเท่ากับ 0 หรือถ้าให้แปลง่ายๆ คือ การลงทุนนี้ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละกี่ %

ดังนั้นถ้าเราสนใจจะลงทุนประกันแบบสะสมทรัพย์ เพื่อไว้ออมและลดหย่อนภาษี ก็อย่าลืมหา IRR ก่อนทุกครั้ง เพื่อที่ะได้เป็นตัวหนึ่งในการตัดสินใจ และไว้เปรียบเทียบกับประกันสะสมทรัพย์ตัวอื่น ถึงแม้บางครั้งเขาอาจไม่ได้บอกไว้ เราก็สามารถถามตัวแทนประกันได้ หรือคำนวณได้เองด้วยโปรแกรม excel ได้ (ตัวอย่างhttps://www.set.or.th/set/education/html.do?name=preretire_isp_preretire-10&innerMenuId=48)

Note :

ก่อนทำประกัน ควรพิจารณาถึงเป้าหมายทุกครั้ง เพราะประกันแต่ละประเภท ย่อมตอบโจทย์ที่แตกต่างกันไป เช่น จุดประสงค์หลักที่แท้จริงของประกันชีวิตเอง ก็ไม่ได้เพื่อหวังผลตอบแทนเป็นหลัก แต่ถ้าจุดประสงค์ของเราคือการศึกษาลูก ต้องการการันตีเงิน ไม่ว่าเราจะอยู่หรือไม่ อยากมีเงินก้อนหนึ่งไว้เป็นทุนการศึกษาให้ลูก แบบนี้จึงมีทั้งเรื่องของการคุ้มครองความเสี่ยง(ทุนประกัน) และการสะสมเงิน(ผลตอบแทนจากเงินคืน)ไปพร้อมๆกัน ซึ่งประกันที่ตอบโจทย์ ก็คือ “แบบสะสมทรัพย์” ที่ควรให้ความสำคัญทั้งเรื่องของผลตอบแทน และความคุ้มค่าของทุนประกันที่ได้ ควบคู่กันไป ไม่ควรดูแต่เรื่องของผลตอบแทนเพียงอย่างเดียว

ส่วนถ้าเราอยากจะซื้อประกัน เพื่อหาเครื่องมือบังคับออมเงินอย่างมีวินัยในระยะยาว ไปพร้อมๆกับได้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี ไม่ต้องการความคุ้มครองชีวิต แต่ต้องการความคุ้มค่าของผลตอบแทนจากประกันแต่ละตัว ทำให้ประกันที่ตอบโจทย์นี้ คือ แบบสะสมทรัพย์หรือแบบบำนาญ ซึ่งพิจารณาเรื่องของผลตอบแทนอย่างเดียว จะใช้ IRR เพื่อเปรียบเทียบหาผลตอบแทนต่อไป

ทั้งหมดเป็นอีกหนึ่งบทความที่ตั้งใจเขียนมาก และขอบคุณทุกคนที่อ่านมาถึงบรรทัดนี้ สุดท้ายหวังว่าจะได้แนวทาง และเครื่องมือ ในการหาผลตอบแทนที่แท้จริงก่อนเลือกทำประกันแบบสะสมทรัพย์ทุกครั้งนะครับ …

Pakpoom Poom
Pakpoom Poom

Written by Pakpoom Poom

My journey | Lifelong Learning : Learn – Unlearn – Relearn

No responses yet