อาสาพาไปหลงในงาน Techsauce Global Summit 2022

Pakpoom Poom
3 min readOct 3, 2022

--

ถ้าพูดถึงงานประชุมด้านเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียในช่วงเวลาที่ผ่านมา คงปฎิเสธไม่ได้เลยครับ ว่างาน “Techsauce Global Summit 2022” คือหนึ่งในนั้น

(ขอบคุณภาพจาก : Techsauce)

ก่อนอื่นอาจจะต้องขอแนะนำกันก่อนสักเล็กน้อยนะครับ สำหรับใครที่ยังไม่เคยรู้จักงานนี้

Techsauce Global Summit คืองานประชุมด้านเทคโนโลยี ที่จัดขึ้นเป็นประจำในทุกๆปี แต่ปีที่ผ่านมาด้วยสถานการณ์โควิด ทำให้ต้องงดจัดงานไปเต็ม ๆ ถึง 2 ปี โดยการกลับมาอีกครั้งในปีนี้ จึงเป็นการกลับมาที่ยิ่งใหญ่ และมาพร้อมกับเหล่า Sponsor มากมายอย่าง SCG และ KBTG

งานปีนี้ถูกจัดขึ้นภายใต้ธีม “ Opportunities Made Possible ” หรือการสร้างโอกาสให้เป็นจริง โดยได้เปลี่ยนพื้นที่ ICONSIAM ชั้น 7–8 ทั้งหมดให้กลายเป็นพื้นที่ในการสร้างโอกาส ที่เต็มไปด้วยบูธจากบริษัทเทคชั้นนำ Startup รวมไปถึงองค์กร และอุตสหกรรมต่างๆ อย่างเนืองแน่นตลอดงาน ทำให้ผู้เข้าร่วมงานได้มาพบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนไอเดียกัน ซึ่งเรียกได้ว่าหากใครมีไอเดีย มีนวัตกรรม หรือ Product อะไรเจ๋งๆ ก็สามารถมา ‘ปล่อยของ’ ประลอง ประชันกันได้อย่างเต็มที่หรือสามารถพูดคุยกับทาง VC ก็ได้เช่นกัน

(ขอบคุณภาพจาก : Techsauce)

ภายในงานนอกจากจะมี Section ของการบรรยาย ที่มาจากทั้งเวทีหลักอย่าง Main Stage ที่เปลี่ยนโรงภาพยนตร์ IMAX ของ ICONSIAM ทั้งโรงให้กลายมาเป็นเวทีบรรยายขนาดใหญ่ และเวทีย่อยกว่า 10 เวที ที่มาพร้อมด้วยเหล่ากองทัพ Speakers ที่เป็นบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีระดับ World Class จากทั่วทุกมุมโลกกว่า 300 มาพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์และความรู้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้ง 2 วันแล้ว ยังคงมีกิจกรรม Workshop ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจได้เข้าร่วม ถามคำถาม ลงมือปฎิบัติจริงกันได้อย่างเต็มที่ ซึ่งแต่ละรอบนั้น จะมีที่นั่งจำกัด โดยเราจะต้องจองที่นั่งมาก่อนเท่านั้น

สำหรับครั้งนี้ผมได้มีโอกาสเข้าฟัง Speaker ที่มาพูดบนเวที Main Stage ในหัวข้อ The Culture Map: Decoding How People Communicate, Lead, and Get Things Done Around the World โดยได้รับกียรติจากคุณ Erin Meyer นักเขียนชาวอเมริกัน ผู้เขียนหนังสือชื่อดังอย่าง No Rules Rules: Netflix ที่ได้มาแบ่งปันความรู้ในครั้งนี้ ผ่านอีกหนึ่งผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับเธอ นั่นคือ The Culture Map: Breaking Through the Invisible Boundaries of Global Business ที่มาบอกเล่าเรื่องราว ว่าผู้คนที่มีความแตกต่างกันทางเชื้อชาติ ภาษา และวัฒนธรรม แบบต่างที่มา แต่ต้องมาทำงาน มาอยู่ร่วมกันนั้นจะส่งผลอย่างไร เพราะโลกในยุคปัจจุบันของเราได้ถูกเชื่อมต่อเข้าด้วยกันอย่างง่ายดายจากเทคโนโลยีต่างๆ มากมาย ที่ทำให้เราสามารถทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องเคยเจอตัวจริงกันด้วยซ้ำไป

(ขอบคุณภาพจาก : Techsauce)

สิ่งนี้เลยที่ทำให้ผมคิดว่าการทำงาน การอยู่ร่วมกัน หรือการพูดคุยกับเพื่อนใหม่ในปัจจุบันนี้จะเป็นสิ่งที่ไม่ยากอีกต่อไปแล้ว เพราะบางครั้งในแต่ละประเทศเองก็อาจจะมีบริษัท ที่มีทีมอยู่แตกต่างในแต่ละพื้นที่ของโลกนี้ เช่น ทีมดูแลระบบอยู่ประเทศหนึ่ง ทีมพัฒนา หรือทีมผู้ใช้งานอยู่อีกประเทศหนึ่งก็เป็นได้ รวมถึงการเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับตัวเองในการออกไปทำงานในต่างประเทศ

ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องอาศัย “การสื่อสารเพื่อเข้าใจในความแตกต่างของมนุษย์” เพื่อที่จะสามารถทำงานร่วมกันได้ ถึงแม้แต่ละคนจะมี Background ที่แตกต่างกันทั้งทางเชื้อชาติ ภาษา และวัฒนธรรม

คุณ Erin ได้เริ่มต้นจากการพูดถึงประเด็นสำคัญในการทำงานร่วมกัน นั่นก็คือวัฒนธรรมของการสื่อสารที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศและในแง่มุมต่างๆ ผ่านจากการศึกษาและการเก็บข้อมูลของเธอ

โดยภาพแรกที่เธอยกขึ้นมาเล่านั้น จะเห็นได้ว่าในแต่ละประเทศมีวัฒนธรรมของการสื่อสารที่แตกต่างกันออกไป โดยเธอได้นำชื่อย่อของแต่ประเทศใส่ในวงกลม แล้วนำมาวางเป็นเส้นตรงตามเกณฑ์ต่างๆ ที่เธอจัดไว้ ซึ่งจะเห็นชัดว่าการสื่อสารในแต่ละประเทศล้วนแล้วแต่มีความกระจัดกระจาย ทั้งสุดโต่งไปด้านใดด้านหนึ่งหรืออยู่ตรงกลาง ยกตัวอย่างเช่น ชาวเอเชียอย่างเราที่ไม่ค่อยชอบพูด ไม่ค่อยกล้าแสดงออก จะต่างกับชาวยุโรปและอเมริกันที่มีความกล้าแสดงออกมากกว่า

ถัดมาคุณ Erin ยกตัวอย่างเหตุการณ์การทำงานร่วมกับเพื่อนต่างชาติว่า เธอมีเพื่อนชาวฝรั่งเศสมาเล่าให้เธอฟังว่า “เพื่อนร่วมงานชาวอินเดียมีนิสัยชอบไม่ตรงต่อเวลา” ทำให้เพื่อนชาวฝรั่งเศสไม่ค่อยชอบ

เช่นเดียวกันคุณ Erin ก็ได้ลองสอบถามเพื่อนชาวอเมริกันในประเด็นที่เพื่อนชาวฝรั่งเศสมาบอกเธอ แต่สิ่งที่พบ คือ เขาบอกว่าเพื่อนร่วมงานชาวฝรั่งเศสก็ไม่ตรงต่อเวลาเช่นกัน

ต่อมาคุณ Erin ก็ได้ลองสอบถามเพื่อนชาวญี่ปุ่นด้วย ถึงตรงนี้ทุกคนพอจะเดาได้ไหมครับว่าเพื่อนร่วมงานชาวญี่ปุ่นจะพูดถึงเพื่อนร่วมงานชาวอเมริกันว่าอย่างไร? ใช่แล้วครับ เพราะเพื่อนชาวญี่ปุ่นก็พูดถึงชาวอเมริกันแบบเดียวกันกับที่ชาวอเมริกันพูดถึงฝรั่งเศส และชาวฝรั่งเศสพูดถึงเพื่อนชาวอินเดียนั้นเอง

ซึ่งนี้สามารถได้สรุปว่า มันเป็นความแตกต่างกันในแต่ละวัฒนธรรม คำว่า “ตรงต่อเวลา” ของคนในแต่ละชาตินั้น ที่ก็มีความแตกต่างกันตามบริบทที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ

แล้วอะไรกันล่ะครับ ที่จะเป็นสิ่งที่ทำให้ทุกคนเกิดความเข้าใจกัน เมื่อต้องทำงานร่วมกันกับคนที่เกิดและเติบโตในคนละสภาพแวดล้อมและต่างวัฒนธรรม

คุณ Erin ได้เรียกสิ่งนั้น ว่า “กุญแจสู่ความเข้าใจและสื่อสารกับคนทุกชาติ” เพื่อใช้ในการถามและพยายามทำความเข้าใจในคู่สนทนาของเรา เพราะหลายครั้งที่เราอาจจะตีความหรือตัดสินเขาด้วย “ความเคยชิน” หรือวัฒนธรรมที่เราคุ้นเคย

“กุญแจสู่ความเข้าใจและสื่อสารกับคนทุกชาติ” ประกอบด้วย

1.บริบท (Context) ของการสื่อสาร สิ่งที่ทำให้เกิดความเข้าใจที่แตกต่าง

ในการสื่อสารของมนุษย์ นอกจากคำพูดที่เราพูดออกไปจะกำหนดความหมายแล้ว บริบทในสถานการณ์นั้นนั้นยังกำหนดความหมายของสิ่งที่เราพูดอีกด้วย จากวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ ทำให้คนในแต่ละประเทศก็ใส่ใจต่อบริบทที่แตกต่างกันไป เช่น ชาวเอเชียอย่างเราจะให้ความสำคัญกับบริบทการพูดที่มากกว่าชาวอเมริกา เพราะการสื่อสารของชาวเอเชียมีความซับซ้อนมาก ไม่พูดสิ่งที่คิดออกมาตรงๆ ต้องใช้บริบทมาประกอบในการตีความในการสื่อสาร

2.การตอบโต้และการให้ความเห็น การกระทำที่ต่างกันจากเป้าหมายเดียวกัน

Erin ยกตัวอย่างการให้ความเห็น (Feedback) ที่แตกต่างกันของคน 3 ชาติที่มีเป้าหมายเดียวกันคือ “การแก้ไขสัญญา

คนเนเธอร์แลนด์ให้ความเห็นต่อสัญญาว่า “สัญญาที่ทำนั้นยังอ่อนไป แต่สามารถปรับปรุงได้” สิ่งนี้ทำให้คนอังกฤษรู้สึกว่าเป็น Feedback เชิงลบ (Negative Feedback) ที่โจมตีที่ตัวเขามากกว่าสัญญา

ส่วนคนอังกฤษ จะให้ความเห็นต่อสัญญาว่า “สัญญานี้ ไม่ต้องเปลี่ยนอะไรเลย มันดีมากแล้ว แต่อยากแนะนำเพิ่มเติม สักเล็กน้อยเพื่อทำให้สัญญารัดกุมขึ้น” Feedback นี้ ทำให้คนเนเธอร์แลนด์เข้าใจและแก้ไขสัญญาไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และทำให้คนอังกฤษไม่พอใจกับสิ่งที่คนเนเธอร์แลนด์ทำ

ส่วนคนอเมริกาก็เริ่มต้นให้ความเห็นต่อสัญญาด้วยการชื่นชม พูดถึงแง่บวกของสัญญา ต่อด้วยการพูดถึงสิ่งที่อยากปรับปรุงในสัญญา ซึ่งก็ทำให้คนที่มาจากอีกวัฒนธรรมหนึ่ง คิดว่าสัญญาฉบับนี้ดีอยู่แล้ว และไม่ต้องแก้ไขอะไรอีก

ทั้งหมดนี้คือวัฒนธรรมในการ Feedback ของแต่ละชาติที่เราต้องทำความเข้าใจ เพื่อปฎิบัติได้อย่างถูกต้อง

3.ความเงียบของเรา ไม่เท่ากัน

คุณ Erin เข้าสู่หัวข้อสุดท้ายที่เกี่ยวกับความเงียบ เธอพูดในเรื่องของ “ความสบายใจในความเงียบ” ที่ต่างกันของคนในแต่ละชาติ เพราะหากมานึกย้อนดูแล้ว เราปฏิเสธไม่ได้เลย ว่าความเงียบก็เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบของการสื่อสาร

โดยเธอสังเกตว่าชาวอเมริกาจะรู้สึกอึดอัดเมื่อคู่สนทนาเงียบไปเพียง 2 วินาที แต่ชาวญี่ปุ่นอาจจะเริ่มอึดอัดเมื่อคู่สนทนาเงียบเกิน 12 วินาที

เธอจึงเปรียบเทียบการสนทนาของชาวอเมริกันเป็นเหมือน “การเล่นปิงปอง” ที่เราต้องโต้ตอบกับอีกฝั่งอยู่เสมอ

หลังจากที่ได้ฟังที่คุณ Erin บรรยายมาทั้งหมดนี้ เราพอจะเข้าใจถึงความแตกต่างของมนุษย์ที่มี “การสื่อสารที่แตกต่างกันมากขึ้น” แม้ว่าเราจะมีการสื่อสารที่ต่างกันในหลากหลายแง่มุม ตามแต่ละวัฒนธรรมของตนเอง แต่เป้าหมายหลักคือความเข้าใจกันที่จะทำให้เราสามารถทำงานหรืออยู่ร่วมกันได้อย่างราบรื่น มองจุดร่วม หาทางออกของปัญหา เพื่อเข้าใจกันให้มากที่สุด

ดังนั้นการ Empathize ผู้อื่น ก็อาจจะเป็นหัวใจที่สำคัญของเรื่องนี้

“มองเห็นหัวใจของผู้อื่นอย่างเข้าใจ เพราะทุกคนต่างต้องการความเห็นอกเห็นใจ”

เพื่อให้เราไม่ด่วนตัดสินใครไปง่ายๆ เพียงแค่เขาไม่ตรงกับความเคยชินของเรา ไม่เหมือน journey ที่เรานึกคิด ที่เราเคยเจอหรือเคยผ่านมา เพราะการทำความเข้าใจกันหรือการปรับตัวเข้าหากันคนละครึ่งทางก็ย่อมส่งผลดีต่อการทำงานและการอยู่ร่วมกันมากกว่า

ก่อนจากกันไป ผมขอฝากด้วย 2 quote

“You can only see a different perspective if you put yourself in someone else’s shoes. Only then you can learn compassion. Only then we can start helping each other.”

Cr. Sef Azure

“When interacting with someone from another culture, try to watch more, listen more, and speak less.”

Cr.Erin Meyer

และนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ที่ผมอยากนำมาแบ่งปันให้กับผู้อ่านทุกคน สุดท้ายหวังว่าบทความจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยกับผู้อ่านทุกคนที่หลงผ่านแวะเวียนเข้ามาอ่านถึงตรงนี้

สำหรับครั้งหน้าจะเป็นบทความเรื่องอะไร อย่าลืมติดตาม แล้วพบกันใหม่ครับ /่\

--

--

Pakpoom Poom
Pakpoom Poom

Written by Pakpoom Poom

My journey | Lifelong Learning : Learn – Unlearn – Relearn

Responses (1)