“เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน” | เงินออมก้อนแรกที่ควรมี

Pakpoom Poom
1 min readApr 6, 2020

--

คนส่วนใหญ่มักจะสนใจแต่การลงทุน ตามหากำไร จนอาจหลงลืม แล้วไม่ค่อยสนใจเรื่องสำคัญและด่วนที่สุดอีกหนึ่งเรื่อง คือ การวางแผนจัดการความเสี่ยง โดยเฉพาะการเก็บเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน

เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน คืออะไร

เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน(Emergency Fund) คือ เงินออมในรูปแบบหนึ่งที่ไม่ได้มีไว้เพื่อการลงทุนให้มีดอกผลงอกเงย แต่มีจุดประสงค์เพื่อไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน เช่น ตกงาน ขาดรายได้ หรือเจ็บป่วยกะทันหัน เป็นต้น ดังนั้นเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินจึงควรเป็น “เงินก้อนแรก” ที่เราควรมี ก่อนที่จะหันไปเริ่มต้นลงทุนเพื่อความมั่งคั่ง ซึ่งคนเราควรเผื่อเหลือเผื่อขาด เก็บเงินไว้ในตระกร้าใบนี้เต็มเสียก่อนเป็นอันดับแรก

เราควรมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินเท่าไหร่ดี

เงินสำรองเผื่อฉุกเฉินนั้นควรจะมีในปริมาณที่เหมาะสม ไม่น้อยหรือมากจนเกินไป เพราะถ้ามีน้อยไป ก็อาจจะไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายในช่วงคับขันได้ แต่หากมีมากไป เงินสภาพคล่องสูง ผลตอบแทนต่ำแบบนี้ จะไปลดภาพรวมของผลตอบแทนการลงทุนของเราลงได้ และควรพิจารณาการใช้จ่ายในแต่ละเดือนของตัวเราเองประกอบด้วย ทำให้ส่วนใหญ่เราควรมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินไว้ประมาณ 3–6 เท่าของค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในแต่ละเดือน เช่น ถ้าเดือนหนึ่งใช้ 20,000 บาท เงินสำรองก็จะเท่ากับ 20,000 x 6 = 120,000 บาท

แต่บางครั้งการมองภาพที่ตัวเราคนเดียว อาจไม่เพียงพอ

เพราะในหลายครั้งๆ เงินของเราอาจไม่ได้เลี้ยงดูแค่ตัวเราคนเดียวเท่านั้น หากเราเป็นเสาหลักของครอบครัว ต้องส่งเงินให้ลูกหลาน หรือพ่อแม่ด้วย ก็ควรนำค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ลงไปคิดวางแผนในเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินของเราด้วย ไม่เช่นนั้น หากเกิดปัญหาขึ้น เราอาจจะมีเงินไม่พอใช้ได้

เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน ควรเก็บไว้ที่ไหน

เราสามารถเก็บไว้ใน “รูปแบบ” ใดก็ได้ แต่ต้องพิจารณาเรื่อง สภาพคล่อง ในการนำมาใช้ และพิจารณาเรื่อง ความผันผวน ของมูลค่าในการเปลี่ยนเป็นเงินสดในวันที่ต้องการใช้เป็นหลัก

ซึ่งหลายๆ คน มักจะบอกว่ามีเงินเก็บฉุกเฉินแล้ว ทั้งในรูปแบบกองทุน (กองทุนรวมตลาดเงิน และกองทุนรวมตราสารหนี้), RMF และสลากออมทรัพย์ ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่บางทีรูปแบบเหล่านี้ก็อาจจะไม่เหมาะสมมาก ด้วยข้อจำกัดทางด้านสภาพคล่อง เพราะการขายกองทุนเหล่านี้ออกมา ต้องใช้ระยะเวลารอ กว่าจะได้เงินใช้ทันทีและอาจขาดทุนได้ ถ้ากองทุนราคาตกอยู่ แต่เราก็จำเป็นต้องขายออกมา

ดังนั้นจึงอยากแนะนำเก็บไว้ในรูปแบบเงินฝากสถาบันการเงิน เงินฝากสหกรณ์ เช่น บัญชีออมทรัพย์ที่ถอนออกมาได้เลยทันที หรือเงินฝากประจำระยะสั้น 3–6 เดือน เป็นต้น

สุดท้ายเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินเป็นเรื่องสำคัญมาก ที่เราควรประเมินความเสี่ยงและโอกาสของตัวเราเองเสมอ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องสภาพคล่อง เพราะการไม่เตรียมเงินเก็บให้พร้อมใช้ อาจทำให้เราตกอยู่ในภาวะลำบากได้ เมื่อเจอเหตุไม่คาดฝันขึ้น และแน่นอนว่าบางครั้ง เหตุไม่คาดฝันก็สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน

อย่าปล่อยให้เพียงความคิดที่ว่า

“เราคงไม่โชคร้ายขนาดนั้น ”

มาเป็นปัญหาที่ทำให้ชีวิตการเงินของเราเสียหายได้

แล้วอย่ารอในวันที่อะไรๆ ไม่เป็นใจ เพราะวันนั้นแหละ

คุณถึงจะเข้าใจความสำคัญของเงินก้อนนี้เอง !

--

--

Pakpoom Poom
Pakpoom Poom

Written by Pakpoom Poom

My journey | Lifelong Learning : Learn – Unlearn – Relearn

No responses yet